ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญ ทำให้เรามองเห็นและเรียนรู้สิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ ถ้าต้องสูญเสียดวงตา
ไปทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้อีกคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อย
ให้ความสำคัญกับการดูแลดวงตา ลองถามตัวเองว่าคุณตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เคยตรวจสุขภาพ
ของดวงตาหรือไม่ เมื่ออายุ 40 ปี ขึ้นไป ความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหิน พบได้ประมาณร้อยละ 1
หมายความว่าในทุก 100 คนทีมีอายุ 40 ปีขึ้นไปมีโอกาสที่จะตรวจพบโรคต้อหิน 1 คน ดังนั้นทุกคน
ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจดูความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหิน ซึ่งโรคต้อหิน เป็นสาเหตุของตาบอด
เป็นอันดับ 2 รองจากต้อกระจก แต่โรคต้อหินเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการหรือสัญญาณเตือนจะรู้ตัวว่า
เป็นก็อาจสายเกินแก้ แต่ถ้าได้รับการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำก็สามารถแก้ไขและป้องกันได้
รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงมัญชิมา มะกรวัฒนะ ผู้อำนวยการศูนย์จักษุรักษ์ตา ชั้น 2
ไลฟ์เซ็นเตอร์ (อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี) กล่าวว่า ต้อหิน เป็นสาเหตุการตาบอดประเภทที่สามารถ
ป้องกันได้อันดับหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันยังมีประชากรอีกมากที่ไม่มีความรู้
ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต้อหิน ซึ่งจะส่งผลให้การตาบอดจากโรคต้อหินในอนาคตมีมากขึ้น
จากการวิจัยคาดว่าประชากรต้อหินทั่วโลกจะมีประมาณ 72 ล้านคนทั่วโลก ในอีก 5 ปีข้างหน้า
(ค.ศ. 2020 หรือใน พ.ศ. 2563) ซึ่งในจำนวนนี้จะมีผู้ที่ตาบอดทั้งสองข้างจากต้อหินประมาณ
10 ล้านคนทั่วโลก และกว่าครึ่งเป็นชาวเอเชีย ดังนั้นเราจึงควรประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน
เกี่ยวกับโรคต้อหิน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยตาบอดจากโรคต้อหิน ต้อหิน คือ กลุ่มโรคของตาที่ทำให้เกิด
การทำลายของเส้นประสาทตาแบบถาวร สาเหตุส่วนมากมักเกิดจากความดันตาที่สูงกว่าปกติ โดยทั่วไป
ค่าความดันตาควรต่ำกว่า 20 มม.ปรอท (ในประเทศไทยมีการสำรวจพบว่าค่าความดันตาเฉลี่ยต่ำกว่า
ค่าเฉลี่ยซึ่งใกล้เคียงกับประเทศในแถบเอเซีย เช่น ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น โดยอยู่ที่ประมาณ 12-14 มม.ปรอท)
หลายคนมีความเข้าใจว่า ต้อหิน คือ การมีหินหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ในลูกตา ในความเป็นจริงแล้ว
ต้อหิน คือ การที่ลูกตาเรามีน้ำขังอยู่ในตามากผิดปกติ น้ำในลูกตาเป็นคนละชนิดกับน้ำตาที่หลั่งออกมา
เวลาที่เรามีอารมณ์เศร้าเสียใจ น้ำในลูกตานี้เป็นน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของลูกตา แทนกระแสเลือด
มีการผลิตและการระบายออกในสัดส่วนที่ต้องเหมาะสม หากไม่สมดุลก็จะส่งผลให้น้ำขังอยู่ในลูกตา
เกิดภาวะความดันลูกตาสูง ทำให้ลูกตาที่ปกติควรจะนุ่มเหมือนลูกบอล มีความแข็งตึงเหมือนหิน
เราจึงเรียกกันว่าต้อหิน
ประเภทของต้อหิน สามารถแบ่งได้หลายวิธี แต่การแบ่งที่นิยมในปัจจุบัน คือ การแบ่งตาม
ลักษณะของมุมช่องระบายน้ำในตาโดยแบ่งเป็น
- ต้อหินชนิดมุมเปิด คือ การที่ความดันตาสูงขึ้นโดยไม่มีความผิดปกติของการระบายน้ำ
แต่อาจเป็นเหตุจากการสร้างน้ำมากผิดปกติ หรือการมีพังผืดหรือเยื่อหุ้มที่เจริญผิดปกติ
มาคลุมและขัดขวางทางระบายน้ำ ในกรณีเช่นนี้ ผลตรวจจะไม่พบการตีบแคบของทางระบายน้ำ
- ต้อหินชนิดมุมปิด คือ เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการตีบแคบของทางระบายน้ำในลูกตา
ซึ่งกรณีเช่นนี้ การรักษาโดยการเปิดทางน้ำจะได้ผลในแง่ของการลดความดันตาได้ดี
และมีโอกาสรักษาโรคต้อหินในหายขาดได้ หากได้รับการรักษาทันท่วงที ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
- ต้อหินในเด็ก พบได้ประมาณ 1 ใน 10,000 เกิดจากความดันตาที่สูงมากผิดปกติในเด็ก
ซึ่งอาจพบได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น ส่วนมากเป็นความผิดปกติของโครงสร้างลูกตาตั้งแต่กำเนิด
อาจมีอาการหยีตาบ่อยๆ น้ำตาไหล หรือสู้แสงไม่ได้ พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีสายตาสั้นหรือยาวผิดปกติ
ทุกคนไม่ว่าอายุน้อยหรือมาก แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัว มีโอกาสเป็นโรคต้อหินทั้งสิ้นและความเสี่ยง
จะมากขึ้นในผู้ที่มีอายุสูงขึ้น ซึ่งสามารถประเมินความเสี่ยงของโรคต้อหินได้ดังนี้
- อายุมากกว่า 40 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคต้อหินมากขึ้นเมื่ออายุสูงขึ้น
- มีโรคประจำตัว ปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง
เบาหวาน ผู้ป่วยโรคข้อ ผู้ที่ต้องรับยาบางชนิดอย่างต่อเนื่อง เช่น ยาแก้แพ้ ยาสเตียรอยด์
รวมทั้งผู้ที่มีความผิดปกติทางสายตา เช่น สายตาสั้นมาก หรือสายตายาวมากผิดปกติ
จะมีความเสี่ยงในการเกิดต้อหินสูงขึ้น
- มีความดันตาสูง ปัจจัยเสี่ยงนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงข้อเดียว ที่สามารถรักษาและควบคุมเพื่อชะลอ
การทำลายของเส้นประสาทตาได้ จักษุแพทย์เท่านั้นที่จะสามารถบอกได้ว่าความดันตาของคุณสูง
และกำลังทำลายเส้นประสาทตาของคุณอยู่ เมื่อเส้นประสาทตาถูกทำลายแล้ว จะไม่สามารถรักษา
ให้กลับมาเป็นปกติได้ การลดความดันลูกตาจะสามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคต้อหินได้
- มีประวัติโรคต้องหินในครอบครัว เช่นเดียวกับโรคต่างๆ หลายโรค โรคต้องหินมักพบได้บ่อย
ในหมู่เครือญาติ หากพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคต้อหิน คุณจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหินสูงขึ้น
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคต้อหินเสมอไป
- มีเชื้อชาติเอเชีย คนเอเชียมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินชนิดมุมปิดมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น
เนื่องจากโครงสร้างลูกตาของเรา มีแนวโน้มที่จะมีความแคบของช่องระบายน้ำในลูกตาสูงกว่า
ประชากรในแถบตะวันตก จากการวิจัยพบว่า ในแถบเอเซียพบโรคต้อหินมุมปิดได้มากกว่ายุโรป
หรืออเมริกาถึง 9 เท่า
- มีเชื้อชาติแอฟริกัน คนแอฟริกันมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินชนิดมุมเปิดมากกว่าคนทั่วไป
3-8 เท่า นอกจากนั้นคนแอฟริกันอายุ 45-65 ปี มีความเสี่ยงที่จะเกิดการตาบอดจากต้อหินมากกว่า
คนผิวขาวในอายุเดียวกันถึง 15 เท่า
เนื่องจากต้อหินเป็นโรคที่ไม่มีอาการตามัวหรืออาการเจ็บปวดใดๆ ผู้ป่วยจึงไม่สามารถทราบว่า
ตนเองเป็นโรคต้อหิน และไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม ทำให้การรักษาต้อหินเป็นไปได้ยาก
และเป็นสาเหตุการตาบอดอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก การวัดสายตาประกอบแว่น การวัดการมองเห็น
ไม่เพียงพอสำหรับการประเมินภาวะต้อหิน ดังนั้นการหมั่นพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพตา
การวัดความดันตา และตรวจประเมินความผิดปกติของขั้วประสาทตาโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำ
ซึ่งเป็นเพียงวิธีเดียวในการป้องกันโรคต้อหิน
แล้ววันนี้คุณได้ตรวจสุขภาพตาของคุณแล้วหรือยัง?
Share
21,518